วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

สดร. ยัน ลูกไฟยักษ์เหนือท้องฟ้า คือ อุกกาบาตหนัก 66 ตัน พุ่งชนโลก

สดร.เผย หลักฐาน จาก NASA เป็นลูกไฟจากวัตถุ ขนาด 66 ตัน พุ่งชนบรรยากาศโลก เหนือท้องฟ้าที่กาญจนบุรี เป็นอุกกาบาตเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 75,600 กม.ต่อ ชม. ความรุนแรง เท่ากับ 1 ใน 4 ระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา

วันที่ 14 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งอยู่อาคารศิริพาณิชย์ ถนนห้วยแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เปิด เผยว่า ทาง สดร. ได้หลักฐานล่าสุด จาก NASA ชี้ลูกไฟที่เมืองไทย 7 กันยายน 2558  เป็นวัตถุจากนอกโลก เส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 4 เมตร มวล 66 ตัน ความเร็วมากกว่า 75,600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สว่างที่สุดขณะสูงจากพื้น 29.3 กิโลเมตร เป็นลูกไฟใหญ่ที่สุด ที่พุ่งเข้ามาในบรรยากาศโลกในรอบปี คาด อาจมีชิ้นส่วนเหลือตกที่กาญจนบุรี ย้ำ เป็นเหตุการณ์ปกติ ที่น่าตื่นเต้น แต่ไม่ต้องตกใจ
แผนที่แสดงจุดที่พบดาวเคราะห์น้อยหรือวัตถุขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลก
"เหตุการณ์ลูกไฟสว่างตกจากฟ้า ในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 7 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา เห็นในกรุงเทพฯ กาญจนบุรี และอีกหลายจังหวัดในภาคกลาง จากหลักฐานภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่ประชาชนบันทึกไว้ในแต่ละพื้นที่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้วิเคราะห์และชี้แจงในเบื้องต้นว่าอาจเป็นลูกไฟ (Fireball หรือ Bolide) จากดาวเคราะห์น้อยหรือวัตถุขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เสียดสีเกิดความร้อนจนลุกไหม้ เห็นเป็นลูกไฟ มีควันขาวเป็นทางยาว เสียงดังคล้ายระเบิด เห็นได้เป็นบริเวณกว้าง "ดร.ศรัณย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ดร.ศรัณย์ กล่าวอีกว่า การพุ่งเข้ามาในบรรยากาศโลก ในวันนั้น อุกกาบาตพุ่งด้วยความเร็วประมาณ 75,600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความสว่างที่สุดในขณะอยู่สูงจากพื้นโลกประมาณ 29.3 กิโลเมตร พลังงานการชนของวัตถุดังกล่าวมีค่าเทียบเท่าการระเบิดของ TNT 3.9 กิโลตัน (หรือ 1 ใน 4 ของระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา) ทิศทางการเคลื่อนที่มุ่งไปทางตะวันตก ที่มุมอะซิมุท 269.8 องศา มุมเอียงของการชนเทียบกับพื้นโลก 45.4 องศา ระบุพื้นที่ ที่อาจมีอุกกาบาตตกบริเวณอุทยานแห่งชาติไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี กินพื้นที่เป็นวงกว้างเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 กิโลเมตร นับเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ที่สุด ที่พุ่งเข้ามาในบรรยากาศโลก ในรอบปีที่ผ่านมา
รองผู้อำนวยการ สดร.กล่าวอีกว่า สดร. ได้รับข้อมูลที่ยืนยันจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา (NASA) และการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเบื้องต้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว วิเคราะห์แล้วพบว่าเป็นวัตถุจากนอกโลก ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.5 เมตร
พลังงานการชนของวัตถุดังกล่าวมีค่าเทียบเท่าการระเบิดของ TNT 3.9 กิโลตัน
อย่างไรก็ตาม ดร.ศรัณย์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่า มีการพบอุกกาบาตจากวัตถุดังกล่าว สดร. ยังคงจะติดตามข้อมูลดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และขอยืนยันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ปกติที่อธิบายได้ จากสถิติพบว่า มีอุกกาบาตตกลงมาบนโลกเป็นจำนวนมาก แต่ไม่เป็นข่าวเนื่องจากส่วนมากตกในมหาสมุทร หรือ บริเวณที่ไม่มีบริเวณที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย โอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินก็มีความเป็นไปได้น้อยมาก จึงเป็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นแต่ไม่น่าตกใจ กรณีนี้ไม่ต่างจากที่เราเห็นดาวตกตอนกลางคืน เพียงแต่เหตุการณ์นี้เห็นได้ในแหล่งชุมชนและเกิดขึ้นในเวลากลางวันเท่านั้น.
ข้อมูลที่มีประโยชน์จาก: ไทยรัฐออนไลน์
http://www.thairath.co.th/content/525188 วันที่ 14 กันยายน 2558 เวลา 17.36 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น